วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จำนวนสถาบันกวดวิชา สะท้อนคุณภาพระบบการศึกษาไทย





สกู๊ป จำนวนสถาบันกวดวิชา สะท้อนคุณภาพระบบการศึกษาไทย
ทั้งที่เป็นวัยหยุดสุดสัปดาห์ แต่เมื่อมองไปทางไหนก็เห็นแต่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เดินกันให้ทั่วสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม แน่นอนว่าจุดประสงค์ของแต่ล่ะคนคงไม่เหมือนกัน และคงไม่ได้มาเพียงเพื่อจะชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” ที่โด่งดังเป็นพลุแตก หรือแค่มาเที่ยวชมโรงภาพยนตร์ที่ถูกไฟไหม้ จากฝีมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดี
แต่เป้าหมายที่แท้จริง ของนักเรียนสะพายเป้ในชุดไปรเวท คือการมาเรียนรู้นอกห้องเรียนกับสถาบันกวดวิชาต่างๆ
หนึ่งสมองกับสองมือ หนึ่งหัวใจกับสองเท้าก้าวย่างเดิน เพื่อมาเรียนพิเศษที่สยาม ศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด
มีตั้งแต่นักเรียนอายุ 13 ปี ไปจนถึง อายุ 18 ปี ผสมปะปนกันไป โดยทั้งหมดนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เรียนพิเศษ หาความรู้เพิ่มเติมจากความรู้ในห้องเรียน
แปลว่าอะไร? แปลว่าระบบการศึกษาในห้องไม่ดีอย่างนั้นหรือ ถึงขนาดที่จะต้องมาหาสถานศึกษาภายนอกที่ไม่ใช่ของรัฐบาลกันแบบนี้
เหลือบไปเห็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นกำลังนั่งกดบีบีอยู่หน้าธนาคารกรุงเทพใกล้ๆบันไดทางลงของสถานีรถไฟฟ้า ในมือเต็มไปด้วยหนังสือเรียนกวดวิชา จึงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน
ธรรศ กิตติสุวรรณ์ นักเรียนชั้นม.5 มีเป้าหมายจะเป็นทันตแพทย์ให้ความคิดเห็นว่า ที่ตนต้องมาเรียนพิเศษ เพราะรู้สึกว่าการเรียนในห้องไม่เพียงพอต่อการใช้ในการสอบ ถ้าหากตนไม่เรียนพิเศษก็คงจะตามคนอื่นๆไม่ทัน
“เดี๋ยวนี้ใครๆก็เรียนทั้งนั้น มันเท่ากับว่า คนอื่นเค้าเดินนำหน้าเราไปก้าวนึง ถ้าเราไม่ได้เรียนพิเศษ เค้าก็รู้มากกว่าเรา เวลาสอบแข่งขันเราจะเสียเปรียบ” ธรรศกล่าว
เห็นได้ชัดว่า สภาพสังคมไทยก็ตอบรับกับความคิดนี้ ดังที่เราเห็นจากปรากฎการณ์ของสถาบันกวดวิชาที่มีมากมาย พัฒนาจากการที่รับสอนพิเศษตามบ้านในวันหยุด สอนแค่การบ้านพิเศษ กลายเป็นสถาบันกวดวิชาเป็นตึก เรียนกันเป็นคอร์ส เป็นชั่วโมง กลายเป็นโรงเรียนแห่งที่สองสำหรับวันหยุดพักผ่อนของเด็กนักเรียนไปแล้ว
 ไม่ว่าจะเป็น เดอะเบรน ออนดีมานด์ อาจาร์ยอุ๊ ล้วนแต่เป็นสถาบันที่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและเด็กนักเรียนในยุคใหม่ทั้งสิ้น
การศึกษาของไทยในปัจจุบัน มันกลายเป็นเรื่องที่มากกว่า การให้ความรู้ การรับความรู้ไปแล้ว กลายเป็นการแข่งขันที่ทุกคนต้องช่วงชิงกัน เพื่อให้ตนเองได้อยู่ข้างหน้า ได้อยู่ตำแหน่งที่ดีๆ ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเท่านั้น
โดยที่มีผู้ปกครองคอยแนะนำส่งเสริม สนับสนุนแกมบังคับอยู่เบื้องหลัง โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและสภาพจิตใจของเด็กที่จะต้องมาอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขัน

หลังจากน้องธรรศจากไปไม่นาน ก็มีเด็กหนุ่มหน้าใสอีกคนเดินสวนมาด้วยท่าทีรีบร้อน  จึงต้องขอรบกวนเวลาเพื่อสัมภาษณ์น้องคนนี้สักเล็กน้อย ด้วยความน่าสนใจ บุคลิก และหนังสือปึกใหญ่ที่อยู่ในมือของเค้า
เด็กหนุ่มแม้ว่าจะรีบร้อน แต่ก็ยังยินดีเสียสละเวลาให้กับเรา ซึ่งต้องแสดงความขอบคุณให้ ณ ที่นี้ด้วย
ธโนคม โสบุมา ณ อยุธยา นักเรียนชั้นม.3 จากโรงเรียนในจังหวัดอยุธากล่าวว่า ที่ตนต้องมาเรียนที่กรุงเทพในช่วงปิดเทอม เพราะว่าผู้ปกครองต้องการให้ตนมีความรู้เทียบเท่ากับเด็กในกรุงเทพ ผู้ปกครองของตนมองว่า การศึกษาในต่างหวัดไม่เท่าเทียมกับในกรุงเทพ ถ้าหากไม่มาเรียนที่กรุงเทพ โอกาสที่จะไม่รู้ในสิ่งที่คนอื่นรู้ก็มีมาก และจะกลายเป็นข้อเสียเปรียบเวลาสอบแข่งขันกัน
“มันกลายเป็นเรื่องจำเป็นไปแล้ว สำหรับการเรียนพิเศษ ทุกปิดเทอมผมจะต้องมาเรียนเพิ่ม ไม่อย่างนั้นเราก็จะสอบไม่ได้ แข่งขันกับใครก็ไม่ได้” ธโนคมกล่าว
ดูเหมือนกับว่าทั้งตัวผู้ปกครองและตัวเด็กนักเรียนเอง ต่างก็ให้ความสำคัญกับสถาบันกวดวิชาและการเรียนพิเศษมากเป็นพิเศษ นั่นแปลว่า ช่วงเวลา 8 ชั่วโมงในโรงเรียนนั้น ไม่มีผลใดๆต่อความรู้สึกของตัวเด็กและผู้ปกครอง แต่กลับเป็นช่วงเวลาแค่ 1 หรือ 2 ชั่วโมงของสถาบันกวดวิชา ที่มีค่าและความสำคัญต่อความรู้สึก
มันเป็นเพียงแค่กระแสค่านิยม หรือระบบการศึกษาไทยมันแย่จริงๆ?
ทำไมเสียงสะท้องของสังคม กลับเลือกที่จะใช้บริการจากสถาบันกวดวิชาที่มีค่าใช้จ่ายสูง มากกว่าการเรียนกับโรงเรียนของรัฐบาลอย่างในปัจจุบันที่น่าจะเพียงพอแล้ว
คุณดา คุณแม่ที่พาลูกของตนเองมาเรียนพิเศษให้สัมภาษณ์ว่า การที่ตนต้องพาลูกมาเรียนพิเศษ เพราะตนไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาของไทย มันสร้างความมั่นใจให้กับเราไม่ได้ ตนยอมเสียเงินมากมายเพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี สามารถตามทันคนอื่น สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้
แม้ว่าจะลำบากกับการต้องมาตามคอยไปรับ ไปส่งลูก แต่คุณดาก็ไม่ย่อท้อ แถมยังดุลูกสาวที่อยู่ในวัยม.1 ที่กำลังทำตัวซุกซน
คุณดากล่าวอีกว่า ระบบการศึกษาของไทยแย่มาก ในห้องเรียนสอนอย่างนึง แต่เวลาที่ออกข้อสอบแข่งขัน กลับออกข้อสอบอีกแบบหนึ่ง แล้วตรงไหนที่เป็นมาตรฐาน แล้วตรงไหนที่เป็นตัวชี้วัด ข้อสอบไม่ได้ออกตามที่สอนเลย ออกยากกว่ามาก ทำให้เราต้องขวนขวาย พาลูกมาเรียนพิเศษ กลัวลูกไม่เข้าใจ กลัวลูกตามไม่ทัน


“ระบบการศึกษาของไทยมันล้มเหลว ล้มเหลวอย่างมากในความคิดของคุณแม่ ทำไมจะต้องทำให้เกิดการแข่งขันสูง ทำไมจะต้องทำให้เกิดการแย่งที่เรียนกัน แล้วคนที่เค้าไม่มีฐานะ คนที่เค้าไม่มีโอกาสได้เรียนแบบนี้ล่ะ เค้าจะเอาโอกาสตรงไหนมาใช้ ในเมื่อระบบการศึกษาไทยมันเป็นแบบนี้ มันบีบให้เราต้องแข่งขันกัน” คุณดากล่าวทิ้งท้ายก่อนจะจากไป
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นจากสภาพสังคมในปัจจุบัน เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ปกครองไม่ให้ความเชื่อใจต่อระบบการศึกษาของไทยอีกต่อไปเนื่องด้วยความไม่เป็นมาตรฐานของหลักสูตร การสอบแข่งขันต่างๆ กลายเป็นปัจจัยส่งผลให้สถาบันกวดวิชาต่างๆพัฒนา และเจริญเติบโตขึ้นมา คู่ขนานกลับการศึกษาของไทย แทนที่กรอบการศึกษาของไทยจะไปส่วนหลัก แต่ในขณะนี้สังคมกลับให้ความสนใจกับสถาบันกวดวิชาภายนอกไปแล้ว และถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ สถาบันกวดวิชาภายนอกก็จะเจริญรุ่งเรือง ระบบการศึกษาของไทยก็จะเสื่อมโทรมลงไป

PrinceBerry/ปณิธาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น