วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชีวิตจริงที่แพ้กฎหมาย ความไม่เท่าเทียมกันบนฐานสังคม


ชีวิตจริงที่แพ้กฎหมาย ความไม่เท่าเทียมกันบนฐานสังคม



ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้สังคมได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงคล้อยตามสังคมโลกมากมาย เพศที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศชาย และหญิงเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว เป็นเวลานานเช่นกันกว่าที่เพศที่สามจะเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย แม้ว่าจะยังไม่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมากมายเหมือนในนานาอารยะประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทย เพศที่สาม เช่น เกย์ กระเทย นั้น ก็ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งทางสังคม ไม่ถูกเหยียดหยาม ไม่ถูกขับไล่เหมือนเช่นแต่ก่อนที่เป็นมา
อย่างน้อยก็ไม่ถึงขนาดหนีพ่อออกมาจากบ้านก็แล้วกัน
แต่ถึงแม้ว่าการยอมรับจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางกฎหมายบางส่วนนั้นก็ยังไม่รองรับสิทธิ์ให้กับเพศที่สามดังเช่นกรณี กลุ่มเกย์ออกมาโวย เรื่องสิทธิ์ในการทำประกันชีวิตให้กับคู่รักของตน กลายเป็นประเด็นวิพากษ์ถึงสิทธิ์และความเท่าเทียมกันของทั้งสามเพศ เนื่องจากว่า กลุ่มเกย์ไม่สามารถทำประกันชีวิตให้กับคู่รักได้ เพียงเพราะทั้งคู่ไม่ใช่สามี ภรรยากันตามกฎหมาย แม้ว่าจะทำมาหากินหรือมีทรัพย์สินร่วมกันก็ตาม แล้วสิ่งที่บริษัทประกันต้องการคืออะไร?
 ใบจดทะเบียนสมรสนั่นเอง...
แต่เนื่องจากว่าในกรอบกฎหมายของไทยนั้นยังไม่กว้างพอที่จะให้เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ก็ส่งผลต่อสิทธิ์ทางกฎหมายต่างๆตามที่พึงจะได้ขาดหายไป กลุ่มเพศที่สามก็ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มกระแสรองที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง ไม่สามารถต่อรองหรือยื่นเรื่องเพื่อดำเนินสิทธิ์ตามที่ควรจะได้ไป เช่น สิทธิในการอยู่กินฉันสามีภรรยา สิทธิในการหึงหวงอย่างออกนอกหน้า รวมถึงสิทธิในการรับมรดกหากอีกฝ่ายด่วนจากไปเสียก่อน เป็นต้น
หากต้องตั้งคำถามว่า ต้องทำอย่างไร ถึงจะได้ซึ่งสิทธิ์นั้นมา?
เฉาะทิ้ง!!แปลงเพศเลยดีไหม? ก็ไม่ได้ ต่อให้ทำไปแล้วตามกฎหมายก็ยังเป็นผู้ชาย ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อยู่ดี เพราะกฎหมายระบุว่า ต้องเป็นชาย-หญิงอายุ 20 ปีบริบูรณ์ (หรือ 17 ปี บริบูรณ์โดยได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแล้วเท่านั้น)
เสียดายน้องชายเปล่าๆ เก็บไว้ใช้ปัสสาวะดีกว่า..
ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่พอจะทำให้คือต้องแก้ทีตัวกฎหมายผลักดันให้เกิดการปรับปรุงถ้อยคำในตัวบท เพื่อที่จะให้เปิดกว้างแก่บุคคลที่เป็นเพศที่สามด้วย สังคมต้องมีความเข้าใจด้วยว่าในปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงแค่เพศที่หนึ่ง กับเพศที่สองครองโลกตลอดมาอย่างที่ผ่านมาแล้ว
ขนาดไดโนเสาร์ยังสูญพันธุ์ได้
แล้วทำไมเพศเดียวกันจะมีความรักให้แก่กัน อยากทำสิ่งดีๆให้แก่กัน อยากอยู่กินฉันท์สามี-ภรรยาด้วยกันบ้างไปไม่ได้?
คำนิยามของคำว่า รัก คือการที่คนสองคนรู้สึกดีต่อกันมีความรักต่อกัน ไม่จำกัดเพศไม่ใช่หรือ?
ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงยังมัวจำกัดสิทธิของกลุ่มเพศที่สามอยู่ เพศที่สามก็มีความรักให้แก่กัน มีสิ่งดีๆให้แก่กันตามบทนิยามอย่างที่ต้องการทั้งหมด
ขนาดอาร์เจนติน่ายังไฟเขียวให้เกย์แต่งงานกันได้แล้วเลย ประเทศไทยยังจะมัวล้าหลังอีกหรือ?
เรื่องนี้รัฐไม่เสียประโยชน์หรอก แต่เป็นตัวบุคคลต่างหากที่ต้องเสียประโยชน์ เสียสิทธิในหลายเรื่อง อีกทั้งยังเป็นเรื่องของตัวเพศที่สามเองอีกด้วย
อย่าลืมสิว่าประเทศไทยมี รัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ระบุว่าห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศอยู่
รัฐต้องรีบดำเนินการ ผลักดันแก้กฎหมายให้เพศที่สามจดทะเบียนสมรสกันได้เสียที ถ้าไม่อยากเป็นเต่าล้านปี!!

PrinceBerry

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น