วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

"ไอ-เลิร์ท-ยู ดูดี" ยังไม่สาย..ที่จะยื่นมือช่วย

"ไอ-เลิร์ท-ยู ดูดี"
ยังไม่สาย..ที่จะยื่นมือช่วย


บายไลน์ //// ปณิธาน อิทธิปิยวัช


แม้สถานการณ์น้ำท่วมที่ถาโถมอย่างรุนแรงตลอดกว่า 2 เดือน ที่ผ่านมา กำลังเริ่มอ่อนกำลังลง จนหลายหน่วยงานเริ่มทำกิจกรรม "ฟื้นฟู" เยียวยาข้าวของที่เสียหาย รวมถึงฟื้นฟูจิตใจของผู้ที่ประสบภัยให้ลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง

กลุ่มกลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ไทย ร่วมกับ สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ FM.91 (สวพ.91) และสำนักงานฑูตความดีแห่งประเทศไทย เป็นอีกความร่วมมือในการแสดงพลังความช่วยเหลือ ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัย

 "ไอ-เลิร์ท-ยู ดูดี" (i-Lert-u Do d) เป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยจะเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2254 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ

"ดนัย จันทร์เจ้าฉาย" ประธานสำนักงานฑูตความดีแห่งประเทศไทย เล่าว่า เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตคนไทยมากขึ้น และมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับการใช้งานด้านต่างๆ มากมาย จึงคิดที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน

"กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ไทยจึงร่วมกับสวพ.91 และสำนักงานฑูตความดีแห่งประเทศไทย พัฒนาแอพพลิเคชั่น ไอ-เลิร์ท-ยู ดูดี เพื่อใช้ในการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งติดตามผลจนผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือ"

แอพ ไอ เลิร์ท ยู จะช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานของคอลล์เซ็นเตอร์ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประสบภัยจำนวนมากโทรเข้าไปตามคอลล์เซ็นเตอร์ที่ต่างๆ ซึ่งคอลล์เซ็นเตอร์ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด
ขณะที่ คอลล์เซ็นเตอร์บางคนเองก็เป็นผู้ประสบภัย ไม่สามารถมาทำงานได้ ยิ่งทำให้ส่วนที่ปฏิบัติงานจริงมีน้อยลง ผู้ประสบภัยต้องรอสายนานขึ้น ท้ายที่สุดเมื่อรอไม่ไหว ก็ล้มเลิกการโทร กลายเป็นว่า คอลล์เซ็นเตอร์ไม่ได้รับเรื่อง การช่วยเหลือก็ไปไม่ถึงผู้ประสบภัย ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจริง

"ไอ เลิร์ท ยู จะเป็นตัวกลางในการประสานงานความช่วยเหลือ โดยมีอาสาสมัครเป็นตัวแทนในการรับเรื่องเหมือนคอลล์เซ็นเตอร์ จากนั้นอาสาสมัครจะเป็นผู้คัดกรอง และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ไวที่สุด โดยมีสวพ.91เป็นหน่วยงานที่ช่วยในการประสานงาน สวพ.91จะมีอำนาจในการประสานงานต่อหน่วยงาน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น"

ดนัย บอกว่า ไอ เลิร์ท ยู ไม่ได้เป็นแอพที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจ แต่เป็นแอพที่หวังผลระยะยาวไปถึงภัยพิบัติครั้งต่อๆ ไปในอนาคต รวมถึงมีการรับเรื่อง "ทุจริต คอร์รัปชั่น" ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในวงการ เพื่อกระตุ้นให้สังคมรับรู้ และตื่นตัวในการทำความดีมากยิ่งขึ้น โดยจะมีอาสาสมัครชุดแรก ที่จะได้รับการอบรมหลังจากการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ถือได้ว่าเป็นอาสาสมัครรุ่นนำร่อง และจะเกิดการขยายผลต่อไปในภายหน้า อาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการอบรมในด้านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาในขั้นต้นได้

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการโทรศัพท์ติดต่อกลับไป อาสาสมัครเป็นผู้จ่ายเอง แม้ทางกลุ่มผู้คิดค้นแอพพลิเคชั่นจะไม่สามารถคืนค่าใช้จ่ายให้ได้ แต่สำนักงานฑูตความดีแห่งประเทศไทย จะจัดทำเข็ม โล่ หรือหนังสือเดินทางความดี (D Passport) ให้แก่อาสาสมัคร เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานแทน
"อนาคต อาจจะมีการประสานงานกับดีแทค เอไอเอส และทรูมูฟ เพื่อยกเว้นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น"  ดนัยว่า

"กิตตินันท์ อนุพันธ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อรุณสวัสดิ์ ดอท คอม เจ้าของแนวคิด ไอ-เลิร์ท-ยู ดูดี เล่าถึงแอพตัวนี้ว่า สามารถทำงานบนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการไอโอเอส 4.3 ขึ้นไป รองรับสองภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แบ่งหมวดการช่วยเหลือออกเป็น 7 หมวดคือ 1.อาหารและน้ำดื่ม 2.การแพทย์ฉุกเฉิน 3.แจ้งจับสัตว์ร้าย 4.อาชญากรรมและมิจฉาชีพ 5.การทุจริตและประพฤติมิชอบ 6.ระบบสาธารณูปโภค 7.การเดินทาง

โดยจะมีการทำงาน เมื่อมีผู้แจ้งขอความช่วยเหลือ แจ้งเตือนไปยังอาสาสมัครที่ลงทะเบียนไว้ พร้อมระบุตำแหน่งผู้แจ้งด้วยดาวเทียม ระบบจะคัดกรองเหตุและแจ้งไปยัง สวพ.91 ซึ่งจะประสานขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่กี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้สามารถใช้งานในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้

นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมอาสาสมัครรุ่นแรกจำนวนกว่า 150 คน โดยมีนางไจตนย์ ศรีวังผล รองกรรมการผู้จัดการ ข่าวจราจร สวพ.91 ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการและเทคนิคการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งอาสาสมัครทุกคนจะได้รับหนังสือเดินทางความดี (D Passport) จากสำนักงานฑูตความดีแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น