วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สุดท้าย....ที่ "ปลายบาง" สุดเขต "น้ำท่วม" ชานเมืองนนทบุรี

สุดท้าย....ที่ "ปลายบาง"
สุดเขต "น้ำท่วม" ชานเมืองนนทบุรี

เรื่อง - สุชาดา วันทอง
เรียบเรียง - ปณิธาน อิทธิปิยวัช

"สุดสายที่วัดศรีประวัติจ้า รีบขึ้นเลยนะค่ะ" เสียงร้องเรียกของกระเป๋ารถเมล์ สาย 127 ดังขึ้นเป็นจังหวะ คอยประกาศบอกผู้โดยสารที่กำลังหาทางเข้าเขตจังหวัดนนทบุรี สถานการณ์น้ำท่วมเช่นทุกวันนี้ ทำให้การเดินรถประจำทางหลายสายต้องเปลี่ยนแปลงไป รถประจำทางสายนี้ แต่เดิมจุดหมายปลายทางคือตลาดบางบัวทอง แต่ปัจจุบันวิ่งได้ไกลที่สุด ก็แค่เพียงบริเวณหน้าวัดศรีประวัติเท่านั้น
รถประจำทางค่อยๆ ขยับเคลื่อนรถ ป้ายที่ผมขึ้นนั้นคือป้ายบริเวณหน้าโลตัส ปิ่นเกล้า ร่องรอย คราบตะไคร่น้ำที่เกาะบริเวณเสาไฟฟ้า ฟุตบาท และพื้นผิวท้องถนน ก็พอจะเดาออกได้ว่าบริเวณที่ผมยืนอยู่นี้ เคยถูกน้ำท่วมขังมาเช่นเดียวกัน
บรรยากาศสองข้างทางดูไม่ค่อยจะสดใสสักเท่าไร ต้นไม้เล็กๆ พุ่มไม้ประดับตกแต่งตามเกาะกลางถนนล้มตายเหี่ยวเฉา สีน้ำตาลที่ดูเหี่ยวแห้ง กลายเป็นสียอดนิยมอยู่ตลอดเส้นทางถนนสายบรมราชชนนี การมาเยี่ยมเยียนของน้ำเมื่อสองอาทิตย์ก่อน พาเอาความชุ่มชื้นที่เกินความจำเป็นมาให้ ยามนี้แม้น้ำจะแห้งเหือดจากไป ก็ยังพาเอาชีวิตเล็กๆ ของพุ่มไม้ตามไปด้วย แทบไม่น่าเชื่อว่าเมื่อสองอาทิตย์ก่อนนั้น บริเวณแห่งนี้จะมีน้ำท่วมสูงถึงกว่า 1 เมตร หากไม่มีร่องรอยคราบน้ำ และสีน้ำตาลที่ดำไหม้ของตะไคร่น้ำเป็นเครื่องยืนยัน

++ยินดีต้อนรับเข้าสู่ "น้ำท่วม"
เพียงรถข้ามพ้นสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ สิ่งที่ทำให้รถต้องลดเส้นทางการเดินรถก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าผม ไม่ถึง 10 เมตรข้างหน้า ใต้ป้ายเชิญชวนว่า "ยินดีต้อนรับเข้าสู่จังหวัดนนทบุรี" มวลน้ำเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมไปทั่วทั้งพื้นที่จนรถไม่สามารถสัญจรต่อไปได้ ทำให้ผู้โดยสารต้องเปลี่ยนวิธี หาเส้นทางการสัญจรของตัวเองต่อไป มันน่าประหลาด หันกลับหลังไป เราเห็นพื้นที่แห้งตลอดเส้นทาง ตรงหน้าเรากลับมีน้ำท่วมขังมากกว่า 50 เซนติเมตร คล้ายๆ ผมยืนอยู่กึ่งกลางระหว่างเมฆฝน กับท้องฟ้าแจ่มใส ถอยหลังกลับไปก็แห้ง เดินหน้าเข้าไปก็เปียกปอน มีเพียงสะพานข้ามคลอง ซึ่งเป็นตัวแบ่ง "เขต" จังหวัดเป็นตัวคั่นเท่านั้น

++ตลาดถนน ปากท้องของผู้ประสบภัย
ริมสะพานสองข้างทาง บริเวณชุมชนปลายบาง หรือที่เรียกกันว่า วัดศรีประวัติ จังหวัดนนทบุรี กลายเป็นตลาดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากความต้องการในปัจจัย 4 อาหารนั้น มีทั้งของคาว ของสด ของหวาน อาหารแห้งมากมายให้ชาวบ้านเลือกซื้อหา บ้างอยู่ไกลก็แจวเรือ จ้างเรือเพื่อออกมาซื้อ บ้างอยู่ใกล้ก็เดินลุยน้ำออกมาพร้อมกะลังมัง เพื่อนำอาหารกลับไปเลี้ยงปากท้อง ประทังชีวิตคนในครอบครัวของตนเอง ซึ่งยังติดอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร บ้างก็เปลี่ยนอาชีพ พลิกจากมือที่เคยจับจอบ เสียมทำสวน มาจับมีดทำครัว ผลิตอาหารขายเพื่อหารายได้หล่อเลี้ยงชีวิต
"แต่เดิมป้าก็ทำสวน ส่งผักให้กับพ่อค้า ตอนนี้น้ำท่วมสวนผักไปหมดแล้ว ป้าก็ต้องหาอย่างอื่นทำหารายได้" ป้าชูศรี พลูสิริ ชาวสวนตำบลปลายบาง พูดพลางปิ้งหมูไปพลาง ฝีมือทำอาหารคงไม่ธรรมดา เพราะขนาดกลิ่นยังเตะจมูก ชวนให้ท้องหิวได้ขนาดนี้

++เล็กที่สุดในจังหวัด สำคัญที่สุดในตำบล
ไม่ถึงสิบห้านาที เสียงเรือเครื่องก็ดับลง พร้อมกับการปรากฎตัวของนายสุรชัย โชคสกุลวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ของตำบลปลายบาง เสียงชาวบ้านทักทายผู้ใหญ่ไม่ขาดสาย ก็พอจะทำให้ทราบได้ว่า ผู้ใหญ่เป็นคนสำคัญของชาวบ้านที่นี่
"ผมกับชาวบ้านทำเต็มที่ เราพยายามเสริมกระสอบทราย สร้างคันกั้นน้ำตลอดแนวริมคลองมหาสวัสดิ์ ต่อสู้และป้องกันน้ำเข้าท่วมพื้นที่ตลอด ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดีเสมอมา ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน ถ้าผมต้องการคนช่วย ชาวบ้านก็พร้อมเสมอ แม้ว่า ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ที่คันกั้นน้ำพัง เราจะป้องกันและซ่อมแซมได้ทัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องยอมแพ้ให้กับน้ำ เพราะครั้งที่ 4 และครั้งสุดท้าย เราไม่มีทรายแล้ว จำต้องปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่เรา ชาวบ้านก็ไม่โทษเรา เพราะชาวบ้านเข้าใจ เห็นความพยายาม เห็นการทำงานของเรา" ผู้ใหญ่บ้านพูดพลางล่องเรือ พาชมสถานที่ทั้งบริเวณชุมชนโดยรอบที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทั้งบริเวณแนวคันกั้นน้ำ บ้านชั้นเดียวของชาวบ้านริมคลองมหาสวัสดิ์ที่ถูกน้ำท่วมสูงจนต้องอพยพไปอาศัยบนหลังคา

++ชานเมืองกับในเมือง ต่างกันเกือบ 50 ซม.
เมื่อผู้ใหญ่บ้านพาเรือล่องเข้ามาในคลองมหาสวัสดิ์ คำตอบของสถานการณ์น้ำท่วมที่ดีขึ้นในเร็ววันของกรุงเทพก็ประจักษ์ต่อสายตา แนวเขื่อนกั้นน้ำคอนกรีต เสริมด้วยกระสอบทรายสองถึงสามชั้นเป็นแนวยาวไปตลอด ขนานคู่กับคลองมหาสวัสดิ์ แทบไม่มีช่องว่างให้น้ำเข้าพื้นที่ได้ ระดับน้ำภายในกับภายนอก ต่างกันกว่า 50 เซนติเมตร ประตูน้ำบางประตูไม่เปิด ซ้ำยังมีการสูบน้ำ ระบายลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ ซ้ำเติมชาวบ้านฝั่งนนทบุรี  แต่ผู้ใหญ่บ้านสุรชัย กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป
"เขามีงบประมาณ เขาปกป้องพื้นที่ของเขาได้ ผมก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ชาวบ้านทั้งสองฝั่งน้ำก็รักใคร่ มีน้ำใจต่อกัน มันเป็นการดีที่ฝั่งกรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม เพราะทำให้การเข้ามาของอาหารเกิดขึ้น เกิดตลาดเล็กๆ ที่ทำให้ชาวบ้านสามารถซื้อหาอาหารเลี้ยงประทังชีวิตได้ ชาวบ้านที่นี่ไม่เคยคิดจะพังคันกั้นน้ำเลย รู้ดีว่าการพังคันกั้นน้ำไม่ได้ทำให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วหรอก มีแต่ส่งผลเสีย ถ้าการสัญจรถูกตัดขาดอีกครั้ง ชาวบ้านจะหาซื้ออาหารได้จากที่ไหน จะเป็นการซ้ำเติมตัวเอง"

++"น้ำลด" ของขวัญชิ้นใหญ่ในวันปีใหม่
"ตอนนี้มวลน้ำที่ไหลมาในพื้นที่ เป็นน้ำที่มาจากบางบัวทอง การที่บางบัวทองน้ำลดลงนั้นเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าคุณสังเกตจะเห็นว่า บริเวณนี้น้ำก็เริ่มลดลงมาแล้ว" ผู้ใหญ่พูดพลางชี้บริเวณคราบระดับน้ำ
"มันลดลงเกือบ 20 เซนติเมตร ถึงมันจะช้าแต่ก็เป็นแนวโน้มที่ดี ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงประมาณช่วงปีใหม่ น้ำน่าจะลดระดับลงไปจนหมด อาจจะช้าสักเล็กน้อย เนื่องจากน้ำบริเวณนี้ไม่มีที่ระบาย ต้องรอระบายออกไปพร้อมกับคลองมหาสวัสดิ์อย่างเดียว แต่ไม่ต้องห่วงเมื่อไหร่ที่แนวกระสอบทรายโผล่พ้นน้ำเมื่อไร จะนำเครื่องสูบน้ำทั้ง 6 เครื่องมาดำเนินการกู้พื้นที่อีกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ อยากให้นำเรือไปผลักดันน้ำที่คลองบางกอกน้อย เพื่อให้น้ำไหลออกสู่เจ้าพระยาได้เร็วขึ้น ดังที่ในหลวงท่านทรงตรัสไว้" ผู้ใหญ่บ้านกล่าวก่อนจะนำเรือเข้าเทียบฝั่งบริเวณคอสะพาน

++คนพื้นที่เปียก ย่อมรู้ดีกว่าคนพื้นที่แห้ง !!
เมื่อเล่าถึงการแถลงการณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าอยู่อาศัยในบ้านของตนเองได้ภายในวันที่ 1 ธ.ค.ให้ผู้ใหญ่บ้านฟัง ผู้ใหญ่สุรชัยกลับให้ความเห็นที่ต่างออกไป

"มันอาจจะฟังดูขัดแย้งกับที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าว แต่ในมุมมองของคนในพื้นที่ มุมมองของชาวบ้านที่คุ้นเคยดีกับการอยู่กับน้ำ ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประมาณช่วงปีใหม่ สถานการณ์น้ำถึงจะกลับเป็นปกติ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่น้ำจะลดลงก่อนวันที่ 1 ธ.ค. เพราะน้ำจากบางบัวทองยังลงมาไม่หมด ทางระบายน้ำก็มีอยู่เท่าเดิม คนที่อยู่ในที่แห้งคงคาดการณ์ด้วยความรู้อย่างเดียว ไม่ได้คาดการณ์ด้วยประสบการณ์ และความเป็นจริง"  ผู้ใหญ่สุรชัยกล่าว ก่อนจะทักทายชาวบ้าน สอบถาม ดูแลทุกข์ สุขของลูกบ้านตัวเองต่อไป

แม้จะต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ แม้จะต้องทนกับสภาพน้ำท่วมขังอีกนานนับเดือน เพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีระบบของจังหวัด แต่ชาวบ้านชุมชนปลายบางก็ยินดี เปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองอย่าง "ผู้เสียสละ" ปรับวิถีชีวิตตนเองให้อยู่กับน้ำ เมื่อไม่มีหน่วยงานราชการระดับสูงใดให้ความใส่ใจ ชาวบ้านจำเป็นต้องดูแลตนเอง ทนรับสภาพ "ผู้เสียสละ" ในฐานะ "ชานเมือง" ปกป้อง "เมืองใหญ่" อย่างไม่มีทางเลือก...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น